การรักษาไข้ด้วยหลักทฤษฎีปรัชญาการแพทย์แผนไทย
โรคไข้ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอต่อคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นในฤดูไหนก็ตาม การแพทย์แผนไทยในคัมภีย์ตักศิลาแบ่งโรคไข้ไว้ดังนี้ ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไข้กำเดาน้อย-ใหญ่ ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ประตง
ลักษณะไข้หวัดน้อย จะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ กระหายน้ำเล็กน้อย ปัสสาวะเหลือง ปวดศีรษะ ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย ตามความเป็นจริงแล้ว โรคไข้หวัดน้อยนี้ก็เกิดขึ้นมาจากเชื้อไวรัสสายไรโนไวรัส (Strains of rhinoviruses) ทำให้เยื่อบุช่องจมูกอักเสบได้แต่ไม่มีการปวดเมื่อยตัวเท่านั้น
ในหลักทฤษฎีปรัชญาการแพทย์ของแผนไทย เกิดจากศอเสมหะ อุระเสมหะ ในกองมหาภูตรูป อาโปธาตุพิการ ธาตุรูปของวาโยธาตุกองโกฐสยาวาตาพิการร่วมเรียกว่า ทุกวันโทษ กอง วาโย เสมหะ พิการ
การใช้ตำรับยา ใช้ตำรับยาจันทลีลา คือ โกศสอ โกศเขมา โกศจุฬาลัมภา แก่นจัน
เทศ แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม รากปลาไหลเผือก รากเท้ายามม่อม หนักสิ่งละ 1 บาท บดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ถ้าเป็นยาต้มใส่น้ำท่วมยา น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือน้ำ 1 ส่วน รับประทานครั้งละ 75 ซี.ซี วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร
ไข้หวัดใหญ่มีลักษณะคล้ายกันกับไข้หวัดน้อย แต่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ อาการน้ำมูกไหลจะมีมากกว่าและการเจ็บคอก็มีมากกว่า เสมหะจะข้นเหนียว อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวตามข้อ อาการอ่อนเพลียจะมีมาก ปากแห้ง คอแห้ง หลอดลมอักเสบ ปวดศีรษะมาก มีความร้อนขึ้นสูง ตัวร้อนมาก ไข้หวัดใหญ่นี้เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza A virus, Influenza B virus, ParainFiuenza viruses , strains of Hinfluenza
ในหลักทฤษฎีปรัชญาการแพทย์แผนไทยเกิดจาก อาโปธาตุกองมหาภูตรูป ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ พิการ วาโยธาตุกองมหาภูตรูป กองสัตถกะวาตะ กองสุมนาวาตะกำเริบ ปถวีธาตุกองธาตุรูป กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พิการ กระทบถึงปถวีธาตุกองมหาภูตรูป กองหทัยวัตถุ กองกรีสังพิการ เป็นเกิดเป็นไข้ตรีโทษ
การใช้ตำรับยา ใช้ยาประสะจันทน์แดง มีตัวยาดังนี้
- รากเหมือนคนขาว รากมะปรางหวาน รากมะนาว เปราะหอม โกศหัวบัว แก่นจันทน์เทศ
- แก่นฝางเสน เอาหนักสิ่งละ 1 บาท
- เกสรบุนนาก เกสรบัวหลวง ดอกสารภี ดอกมะลิ เอาหนักสิ่งละ 1 สลึง
- ยาห้าราก (มะเดื่อชุมพร คนทา ท้าวยายม่อม ชิงชี่ ย่านาง) เอาหนักสิ่งละ 2 บาท
- แก่นจันทน์แดง เอาหนัก 10 บาท
ใช้ต้มกิน ใส่น้ำท่วมยา น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือน้ำ 1 ส่วน กินครั้งละ 1 ถ้วยตะไล หรือ 75 ซี.ซี. วันละ 4 เวลา ก่อนอาหารและก่อนนอน
ใช้กำเดาน้อย กำเดาใหญ่ มีอาการปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เคืองลูกนัยน์ตา ตัวร้อนจัด หน้าผากร้อน อาเจียน ปวดเมื่อยตัว เป็นไข้ที่เกิดจากผลกระทบมาจากฤดูกาลและทำงานหนัก
ในหลักทฤษฎีปรัชญาการแพทย์แผนไทยมีสาเหตุเกิดมาจากกองเดโชธาตุมหาภูตรูป กองสุมนาวาตะพิการแทรก อาโปธาตุรูป กองพัทธะปิดตะ กองอพัทธะปิดตะ กองกำเดา อาโปธาตุรูป กองโลหิตกำเริบแทรก ถ้าเป็นไข้กำเดาน้อย ก็เป็นสมุฏฐาน ทุวันโทษ ถ้าเป็นไข้กำเดาใหญ่ก็เป็นสมุฏฐานตรีโทษ
การรักษาโรคไข้กำเดาน้อย ไข้กำเดาใหญ่ ใช้ยาต้นตำรับมหานิลแท่งทอง เม็ดมะกอกป่าสุม กระดูกกาสุม กระดูกงูเหลือสุม หวาย ตะค้าสุม ถ่านไม้สัก แก่นจันทน์เทศในพิมเสน ใบย่านาง หมึกทองจีน เอาหนักสิ่งละ 1 บาท เบี้ยจั่นคั่วให้เหลือง 3 เบี้ย บดเป็นผงปั้นเม็ด ปิดทองคำเปลวแท้ ทำหนักเม็ดละ 0.5 กรัม กินครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร เด็กลดลงตามส่วน
สรรพคุณ แก้ไข้กำเดาน้อย กำเดาใหญ่ แก้ไข้ออกหัด แก้ไข้อีสุกอีใส
ไข้พิษ คือ ไข้ที่ติดเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัสโปรโตชัว จุลินทรีย์ (Infections disease) ต้องเรียนรู้ให้ละเอียด ปัจจุบันการแพทย์ทางด้านนี้เจริญมากแล้วและมีการพัฒนาอีกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีหลายประเภทของไข้ เช่น ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาด ไข้วัณโรค ไข้ท้องเสีย เป็นต้น
ไข้กาฬ คือ ไข้ที่ติดเชื้อจำพวกไวรัสต่างๆ มีผื่นขึ้นอยู่ในเนื้อเป็นปื้น เป็นผื่น มีสีดำ สีม่วง สีแดง ไข้ชนิดนี้มีการบันทึกมาแต่โบราณ อยู่ในคัมภีร์ตักศิลาเป็นโรคติดเชื้อที่ถือว่ารุนแรงที่สุด อาจจะตายได้ในวันเดียว
ไข้ประดง คือ ไข้กาฬที่รักษาแล้วหายไม่ขาด มีภาวะแทรกซ้อนของอาการของโรคที่เกิดมีหลายประเภทหลายชนิด
การรักษามีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ของท่านพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นการบันทึกเป็นวิชาการด้านการรักษาทางคลินิกรายละเอียดของการรักษาต้องใช้เป็นสูตรเพื่อการสอนจึงจะรักษาได้เพราะมีเคล็ดวิชาที่เป็นรายละเอียดมากมายทางด้านปฏิบัติ