กินดี...ต้านโรคได้ ตอน เลี่ยงรสเค็ม
2014-06-16 17:28:22
อาหารส่วนใหญ่มีเกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบในปริมาณสูง มีอยู่ในอาหารทั่วไปเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นซอสปรุงรส น้ำปลา ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป และอาหารที่มีรสเค็มทุกชนิด จึงเป็นไปได้ว่าเรามักจะได้รับโซเดียมเกินความต้องการของ ร่างกาย แม้ว่าโซเดียมจะมีประโยชน์ช่วยควบคุมปริมาณน้ำและความดัน-เลือดในร่างกาย แต่การได้รับโซเดียมมากเกินไปจะก่อให้เกิดโรคความดัน-โลหิตสูงได้ โดยในผู้ใหญ่แนะนำว่าควรได้รับประมาณวันละไม่เกิน 1,100-3,300 มิลลิกรัม
แหล่งที่มาของโซเดียม
- เครื่องปรุงอาหารที่มีปริมาณของโซเดียมอยู่สูง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ผงชูรส กะปิ ผงปรุงรส น้ำมันหอย เครื่องพริกแกง น้ำปลาร้า ผงฟู
- ประเภทของอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่เค็ม ลูกชิ้น ไส้กรอก แคบหมู ขนมถุงกรุบกรอบ อาหารดองเค็ม อาหารแช่อิ่ม อาหารตากแห้ง เครื่องดื่ม ขนมปัง
ข้อควรระวังเมื่อชอบกินอาหารรสเค็ม
- จากการศึกษา พบว่า ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มเป็นประจำ จะมีพฤติกรรมการกินของหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานรสเค็ม เนื่องจากเมื่อร่างกายได้รับโซเดียม ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในเกลือและสารที่ให้ความเค็มอื่นๆ ร่างกายจะมีความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายที่สูงขึ้น และส่งผลให้ร่างกายต้องการน้ำเพราะจะรู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น และจากงานวิจัยระบุว่า เครื่องดื่มที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ชอบรับประทานรสเค็มเลือกนั้น ก็คือ เครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน จึงทำให้ได้รับน้ำตาลสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มมีความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่า
- โดยปกติแล้วระบบประสาทการรับรู้รสชาติของอาหารที่ลิ้นจะลดน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าคนที่ชอบกินอาหารรสเค็มจะเพิ่มความเค็มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ
- การกินอาหารที่มีโซเดียมสูง เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะไตเสื่อม เนื่องจากไตซึ่งเป็นอวัยวะที่กรองของเสียและน้ำออกนอกร่างกายจะต้องทำงานหนัก เมื่อมีโซเดียมในร่างกายสูง และเมื่อต้องทำงานหนักเป็นประจำไตก็จะเสื่อมเร็วขึ้น
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและตามมาด้วยความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องมาจากการที่ร่างกายได้รับโซเดียมจะไปเพิ่มเซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันโลหิตที่สูงขึ้นและหัวใจทำงานหนักมากขึ้น
- การได้รับปริมาณของโซเดียมสูงในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม